ส่วนที่ 1 โครงการส่วนพระองค์
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานดำเนินงานในรูปโครงการทดลองและโครงการตัวอย่างใน 2 รูปแบบ คือโครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจและโครงการแบบกึ่งธุรกิจ สำหรับโครงการกึ่งธุรกิจเป็นการผลิตสินค้าจำหน่ายในราคาย่อมเยาในรูปแบบที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งมีคุณภาพและราคาไม่แพง โดยโครงการสามารถมีรายได้พึ่งพาตนเองเพื่อการดำเนินงานของโครงการต่อไปได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ใช้การบริหารจัดการเชิงธุรกิจในการดำเนินงานในโครงการแบบกึ่งธุรกิจ โดยการคำนวณหาต้นทุนการผลิต การจัดการด้านการตลาด การจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายและรายรับของโครงการ เพื่อให้สะท้อนเห็นภาพการพึ่งพาตนเองได้ของโครงการ
“…แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้
ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน
ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มี มีหนังสือ
เคยอ่านหนังสือทำได้…”
ส่วนที่ ๒ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการฝนหลวง
โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จของโครงการจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการ พระราชดำริ “ฝนหลวง” ต่อไป
ส่วนที่ ๓ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต”
ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529
ความตอนหนึ่งว่า
“…หลักสำคัญว่าต้องมี น้ำบริโภค น้ำใช้
น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ
คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้
แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทานนับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี
ส่วนที่ 4 โครงการพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรดิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อม โทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลายสามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก
ส่วนที่ 5 โครงการพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความ สำคัญของป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่าด้วยเหตุนี้จึงมี พระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศโดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เช่นเดิมเพื่อป้องกันอุทกภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันช่วยถนอมน้ำไว้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย
ส่วนที่ 6 โครงการพระราชดำริทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการขาดแคลนน้ำ ทฤษฎีนี้ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำแก่เกษตรกรในที่ดินขนาดเล็กโดยแบ่งที่ดินเป็น 4 ส่วนตามอัตรา 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง
1. พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณร้อยละ 30 ทำการขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูก
2. พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณร้อยละ 30 ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี
3. พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณร้อย 30 ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร พืชไร่ ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
4. พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทางและโรงเรือนอื่นๆ
ชมห้องเฉลิมพระเกียรติฯออนไลน์ 360 องศา
เวลาเปิดเข้าชม จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดบริการ
***** เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย *****
หมายเหตุ : กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะหรือเข้าชมนอกเวลาราชการ กรุณาติดต่อ
หน่วยหอจดหมายเหตุและองค์ความรู้ งานห้องสมุด
โทรศัพท์ : 042-725000 ต่อ 9011